• September 2, 2024

“แบงก์ชาติ” เปิดเงื่อนไขแบงก์พาณิชย์ต้องทำยังไงถ้าจะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลหากเกิน 3%

ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเงื่อนไขหากธนาคารพาณิชย์จะต้องทำอย่างไรหากลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเกิน 3% ของเงินกองทุน เปิดช่องโหว่เว้นช่องว่างให้ “โฮลดิ้ง” และไม่ติดเงื่อนไข “เมตาเวิร์ส-Defi”

น ส.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายในงานสัมมนา “สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต” ภายใต้หัวข้อ “ภูมิทัศน์การเงินไทยยุคอนาคต” ว่าในช่วงที่ผ่านมาสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset หรือ DA) ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน สถาบันการเงิน และภาครัฐเป็นอย่างมาก แม้ว่า Digital Asset จะนำมาซึ่งโอกาสและความเสี่ยงสูงในเวลาพร้อมๆ กัน ซึ่งที่ผ่านมา แบงก์ชาติในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเงินตรา หรือ Currency ซึ่งได้มีความพยายามปรับแนวคิดภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย หรือ Financial Landscape Consultation เพื่อให้สอดรับกับระบบการเงินดิจิทัลของโลก โดยได้วางแนวทางการกำกับดูแลที่มีความยืดหยุ่น ทั้งการคุ้มครองผู้ฝากเงิน และความพยายามในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน แต่กระนั้นก็ต้องสอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยประเด็นสำคัญคือ Digital Asset ต้องเป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังที่สามารถต่อยอดการให้บริการและทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมการเงินถูกลง มีความหลากหลาย และปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนำมาซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลภาคส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.ธุรกิจ Digital Asset ที่ได้รับการอนุญาตและมีหน่วยงานการกำกับดูแล เช่น Digital Asset exchange, Broker, Dealer ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดหลักเกณฑ์กรอบการลงทุนไว้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน แต่ทั้งนี้หากเป็นกลุ่มธุรกิจการเงิน (Holding Company) ที่มีการประกอบธุรกิจโดยมีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตนเอง ซึ่งอาจเป็นการลงทุนในบริษัทในประเทศหรือบริษัทในต่างประเทศ สามารถลงทุนได้เกิน 3% ของเงินกองทุน แต่จะทำให้เงินกองทุนลดลงได้ แต่หากเป็นกรณีธนาคารพาณิชย์ที่แบงก์ชาติไม่อนุญาตให้ทำเกินสัดส่วนเพดานที่กำหนดไว้

ส่วนกลุ่ม 2.Digital Asset ที่ไม่มีการกำกับดูแล เช่น Metaverse และ Defi นั้น แบงก์ชาติกำหนดให้ทำอยู่ในขอบเขต (Sandbox) โดยจะมีการพิจารณาใน 2 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการพิจารณารับเข้าทดสอบ ซึ่งจะวิเคราะห์ถึงปลายอุโมงค์ว่าโครงการ หรือแพลตฟอร์มนั้นๆ ทำแล้วเกิดประโยชน์กับประชาชนมากน้อยแค่ไหน และทำแล้วมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมากกว่ากัน คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวหรือไม่ และขั้นตอนหลังการทดสอบแล้วเสร็จก่อนจะให้บริการวงกว้าง จะดูว่ามีประโยชน์ต่อภาพรวมหรือไม่ โดยการทดสอบดังกล่าวยังคงอยู่ในเพดาน 3%

“การกำหนดหลักเกณฑ์ของแบงก์ชาตินั้นจะอยู่ในกรอบหลวมๆ ไม่ปิดกั้น หรือเปิดกว้างมากจนเกินไป แต่จะเน้นการสร้างการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน โดยจะเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน แม้ว่าจะต้องรีดเส้นทางให้แคบลง แต่ยังมีประตูทางออกให้ ซึ่งมองว่าเพดานการลงทุนของแบงก์พาณิชย์ที่ 3% นั้นไม่น้อยเกินไป ซึ่งเป็นสัดส่วนเพียงพอต่อการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงแรก อย่างไรก็ดี การที่แบงก์ชาติกำหนดหลักเกณฑ์ออกมาแบบนี้ เพราะไม่อยากให้ทุกคนแห่เข้าไปลงทุนตามกระแส “ของมันต้องมี” หรือ “กลัวจะตกขบวน” แต่อยากให้ค่อยเป็นค่อยไป เพราะถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ยังมีความผันผวนและความเสี่ยงอื่นๆ ที่ยังมองไม่เห็นอยู่อีกมาก ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์มากขึ้น” น.ส.รุ่ง กล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket/