• April 25, 2024

‘SMT’ปั้นรายได้ปีนี้โต ชิปขาดคลี่คลาย-ลูกค้าใหม่เพิ่ม

“กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์” เจอสารพัดปัญหากระทบ ! ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ขาดแคลนชิปทั่วโลก และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุมเร้าต่อเนื่อง และหนึ่งในผู้ประกอบผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บมจ. สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) หรือ SMT

ปี 2564 ที่บริษัทมีกำไรสุทธิ 209.70 ล้านบาท เติบโตจากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 81.39 ล้านบาท และในปี 2565 ยังตั้งเป้าการเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนอีกด้วย !! “วิรัตน์ ผูกไทย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SMT ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไว้ที่ 3,300 ล้านบาท เติบโต 30% จากปีก่อนที่อยู่ 2,239.94 ล้านบาท โดยจะเร่งขยายตลาด และการหาลูกค้าใหม่ ๆ ในต่างประเทศที่มีช่องทาง e-Marketing เพิ่มเติม รวมทั้งแผนการเพิ่มความสามารถและ ประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อสร้างการเติบโตของรายได้

ปัจจุบันบริษัทมียอดขายที่รอรับรู้รายได้(Backlog) ประมาณ 2,000 ล้านบาท และคาดว่าจะรับรู้รายได้ปีนี้ทั้งหมด ตลอดจนยังมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) เข้ามาต่อเนื่องทั้งจากลูกค้าปัจจุบัน และ ขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยขณะนี้มียอด Booking เกิน 70% แล้ว ซึ่งเชื่อว่าทั้งปีนี้บริษัทจะสามารถทำยอดขายได้ตามแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่บริษัทวางกำไรขั้นต้นปีนี้ไว้ที่ 18-20% โดยบริษัทคาดว่าจะหาลูกค้าได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการรักษาฐานการเติบโตของยอดขายสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จินระดับสูงต่อเนื่อง ตลอดจนบริหารจัดการต้นทุนให้สอดคล้องตามผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิต

นอกจากนี้ บริษัทมีโอกาสเพิ่มจำนวนสินค้าใหม่จากความพร้อมด้านการผลิตโดยไม่ต้องลงทุนอีกทั้ง บริษัทยังประสบความสำเร็จจากการได้ลูกค้าใหม่จากตลาดแถบยุโรป สแกนดิเนเวีย นอกเหนือจากธุรกิจด้าน Optics เพื่อต่อยอดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยเป็นผลิตภัณฑ์ด้าน Power module, e-display และ professional audio ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าแล้ว 15 ราย มูลค่าคำสั่งซื้อรวม 5,000 ล้านบาท จึงมองว่าส่วนหนึ่งจะเข้ามาต่อยอดรายได้ในปี 2565

“ปีก่อนเราหย่อนเป้าไปเล็กน้อย เพราะไตรมาส 4ปี 2564 เจอปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และ ปัญหาขาดแคลนชิปทั่วโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการแพร่ระบาดของโควิด แต่ปีนี้เราเชื่อว่ายอดขายจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 3,300 ล้านบาท และ ปี 2566 จะอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 25% เป็นอย่างน้อย”

พร้อมกันนี้บริษัทเตรียมขยายไลน์การผลิตใหม่อีกกว่า 12 รายการ ประกอบด้วย Block chain Hasher, Power Module และ High Speed Datalink, RF Power Amplifier, EV Battery Control และ Measuring Tools, Smart-home IoT, RFID Subsystem และ Silicon Photonics และ Satellite Internet, Optical Transceiver และ EV Power Panel เป็นต้น

สำหรับโครงสร้างรายได้จากการขายในปี 2565 จะแบ่งออกเป็น ผลิตภัณฑ์ OSAT 39% Optics 32% และ PCBA &Boxbuild29% โดยแบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการสื่อสาร (Communication) 41%, IC 27%, Industrial 14%, Automotive 10%, Audio/Video 7% และ Medical 0.3% เป็นต้น

ทั้งนี้ ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ยังอยู่ในสหรัฐฯ กว่า 82% รองลงมา คือ ยุโรป 13% และเอเชีย 5% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทวางงบลงทุนปีนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร และเพิ่มศักยภาพของ warehouse ด้านแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2565 บริษัทคาดว่าจะมีการเติบโตดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้า

เนื่องจากสถานการณ์วัตถุดิบหลัก (raw material) ขาด Supply มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีการทยอยส่งมาให้กับบริษัทมาได้เพิ่มมากขึ้น และคาดว่าในไตรมาส 2 ปี 2565 จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในเบื้องต้นคาดการณ์ว่าคำสั่งซื้อและการส่งมอบงานในไตรมาส 3 ปี 2565 จะสูงสุดของปีนี้

สุดท้าย “วิรัตน์”บอกไว้ว่า เรามีโอกาสเติบโตกว่าเป้าหมายที่วางไว้หากปัญหาขาดแคลนชิปซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญคลี่คลายลง จะมีผลอัพไซด์ต่อประมาณการรายได้ รวมถึงลูกค้าเก่าก็ยังคงสั่งซื้อสินค้าต่อเนื่อง และลูกค้าใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาด้วย จากความพร้อมด้านการผลิตของบริษัท

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business